หน่วยที่3


หน่วยที่ 3
ชื่อหนังสือ :การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

บทบาทของพ่อแม่กับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ตั้งแต่แรกเกิด บุคคลที่มีวามหมายสำหรับเด็กอย่างยิ่งก็คือ พ่อแม่ ผู้ที่ใกล้ชิดรักใคร่ผูกผันกับเด็กที่สุด และมีหน้าที่โดยตรงในการให้การอบรมเลี้ยงดู ปลูกฝังทัศนคติและกำหนดวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดบรรยากาศและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ เอปสตีน และบรอดสกี้ (2540: 156-160) ได้กล่าวถึงพื้นฐานในการสร้างนักคิดสร้างสรรค์ที่ดีไว้ในหนังสือแปลเรื่อง คุณฉลาดมากกว่าที่คุณคิดไว้” โดยสรุปว่าบทบาทของพ่อแม่มีส่วนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้โดยการปฏิบัติดังนี้
1.ให้การยอมรับนับถือเด็ก ในการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าการทำโทษโดยการทำร้ายร่างกายกับจิตใจ อย่างไรจะมีผลเสียต่อการคิดสร้างสรรค์มากกว่ากัน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่รายงานว่าพ่อแม่ชอบล้อเลียน เย้ยหยัน และทำให้เขารู้สึกไม่มีค่า มีปัญหาทางอารมณ์มากกว่าและเป็นนักคิดสร้างสรรค์น้อยกว่านักเรียนที่รายงานว่าพ่อแม่ลงโทษโดยการตี การที่การเฆี่ยนตี มีผลเสียต่อการคิดสร้างสรรค์นั้น สาเหตุหลักมาจากผลทางอารมณ์ที่เด็กรู้สึกต่อการถูกตีว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกนับถือในตัวเองของเด็ก ดังนั้นแทนที่พ่อแม่จะลงโทษเด็กด้วยการด่าว่า ล้อเลียน หรือเย้ยหยันเขา หรือเฆี่ยนตี ล้วนเป็นผลเสียต่อการคิดสร้างสรรค์ พ่อแม่ควรใช้วิธีตักเตือนหรือดุเขาด้วยเหตุผล โดยการยอมรับนับถือความเป็นคนของเขาด้วย พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจได้ชัดเจนว่ากำลังลงโทษเขาสำหรับพฤติกรรมที่เลว ไม่ใช่ลงโทษเขาในฐานะที่เขาเป็นคนเลว
2.ผสมผสานความรักกับการฝึกให้เด็กรู้จักเป็นตัวของตัวเอง ถึงแม้ความรักจะเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ลำพังความรักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอการวิจัยได้พบว่าการให้ความรักควบคู่กับการชี้แนะของพ่อแม่จะเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กสามารถออกไปใช้ชีวิตในโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยทั่วไปคนที่สร้างความรักมั่นคงมักจะเป็นแม่ และคนที่สร้างวินัยและความเป็นตัวของตัวเองของลูกมักจะเป็นพ่อ คนที่เป็นนักคิดสร้างสรรค์มาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่แบบนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป ประเด็นก็คือเด็กต้องการทั้งความรัก และวินัย จะมาจากพ่อหรือแม่หรือจากทั้งสองคนก็ได้
3. ยอมให้เด็กมีประสบการณ์กับความคับข้องใจระดับปรกติวิสัย ถ้าหากพ่อแม่ปกป้องมากไปจนลูกไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วโลกไม่ได้ยุติธรรมหรือดีงามเสมอไป พวกเขาจะรู้สึกงุนงงอย่างรุนแรงเวลาที่เขาเจอบทเรียนหนักๆ ดังนั้นคนที่เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายระดับทั่วๆไปในช่วงต้นๆ ของชีวิตจะเข้มแข็งที่จะเผชิญกับสถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในภายหลังได้มากกว่าการมีประสบการณ์นี้จะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการสังเกต การอ่าน การได้ยิน สถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆ
นอกจากคุณลักษณะของพ่อแม่ซึ้งเป็นหลักการทางบวก 3 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นยังมีวิธีที่ถ่ายทอดให้เด็กคิดแบบทำลายล้าง ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน ดังต่อไปนี้
1.อย่าทำในสิ่งที่เด็กตีความได้ว่านั้นคือการปฏิเสธเขา การการปฏิเสธไม่ว่าโดยเปิดเผยหรือซ้อนเร้น เป็นการแทรกแซงพัฒนาการในการเรียนรู้ที่จะรักตนเองและรักคนอื่น ซึ่งกระบวนการนี้เกิดจากประสบการณ์ของเด็กในเรื่องเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ ถ้าหากเด็กรู้สึกว่าแม้แต่พ่อแม่ก็ยังไม่รักเขา พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า
2.อย่าเป็นพ่อแม่แบบใช้อำนาจ พ่อแม่แบบใช้อำนาจเชื่อว่าการที่จะทำอะไรก็ตามมีวิธีที่ถูกอยู่เพียงวิธีเดียว คือวิธีที่พ่อแม่เห็นด้วย การเรียกร้องให้ลูกต้องยอมรับทัศนะของพวกเขาอย่างศรัทธา ในท้ายที่สุดแล้วก็คือการบังคับให้ลูกๆ ต้องสูญเสียเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์
3.อย่าปกป้องลูกมากเกินไป พ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูกมากและไม่ต้องการให้พวกเขาพบความลำบากใดๆเลย ผลก็คือพ่อแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เอาใจตัวเองไปผูกพันคิดแทนลูกมักจะปกป้องลูกมากเกินควร(Overprotective) แม้ว่าพวกเขาจะตั้งใจดี  แต่สิ่งที่ทำไม่เป็นผลดีต่อเด็ก การแสดงความรักที่แท้จริงของพ่อแม่อย่างหนึ่งคือ การเต็มใจที่จะให้ลูกพบกับความล้มเหลว(Failure)ได้ เพราะความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้ว่าความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายถึงขั้นเป็นโศกนาฏกรรม แต่เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้และจะทำให้เรามีโอกาสประสบณ์ความสำเร็จได้ในคราวต่อไป
4. อย่าให้ความรักแบบมีเงื่อนไข ความรักแบบมีเงื่อนไขหมายถึง ความรักที่ลูกจะได้มาด้วยการประพฤติตนให้เหมาะสมตามที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่ที่พูดว่า“ถ้าลูกเป็นเด็กดีและทำตามที่พ่อแม่ต้องการ เราจะรักลูก แต่อย่าคาดหมายว่าเราต้องรักลูกเพราะว่าลูกเป็นลูก”อย่างนี้เท่ากับการปฏิเสธอย่างเลือกสรรเป็นการไม่ยอมรับนับถือเด็กโดยพื้นฐาน เด็กต้องการความรักที่มั่นคงว่าเขาเป็นที่รักของพ่อแม่และคนอื่นๆ เพราะตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เขาทำ พ่อแม่ที่พูดกับลูกว่า“สิ่งที่เธอทำ ทำให้เธอเป็นเด็กเลวซึ่งฉันไม่สามารถจะรับได้”จะต่างจากพ่อแม่ที่พูดว่า“ฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ”
การรักอย่ามีเงื่อนไข ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงว่าเขามีคุณค่าเพียงพอที่จะเป็นที่รักของพ่อแม่หรือไม่ บ่อยครั้งที่เด็กรู้สึกไม่มั่นคงแบบนี้จะพัฒนาเป็นคนที่พยายามที่จะเอาใจคนอื่นจนเกินความจำเป็น เขาไม่ได้ตระหนักอย่างมีจิตสำนึก แต่เขาเชื่อว่ามีวิธีเดียวที่จะทำให้คนอื่นสนใจเขาได้ ก็คือเขาต้องเสียสละความต้องการตนเอง และทำอย่างที่คนอื่นต้องการ ถ้าหากพวกเขายังคงปฏิเสธความต้องการของตัวเองเพื่อที่จะเอาใจคนอื่นไปเรื่อยๆ เขาจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นการเสียสละที่เกินความจำเป็น และเขาก็รู้สึกว่าไม่เคารพตนเองที่ต้องทำในสิ่งที่เขาได้ทำไป
5. อย่าปฏิบัติต่อเด็กเหมือนกับเขาเป็นคนพิเศษมาก การทำให้เด็กคิดว่าอะไรก็ตามที่เขาทำเป็นสิ่งสำคัญมาก มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดี คือเป็นการส่งเสริมให้เด็กนับถือตนเอง ผลเสีย คือเป็นการทำให้เด็กมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเพราะเขาต้องแบรกภาระรับผิดชอบที่จะต้องทำอะไรให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้คนอื่นชื่นชม หากเขาต้องกังวลเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเขาก็อาจมองความสำเร็จในระดับปานกลางว่าเป็นความล้มเหลว
เด็กที่ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนพิเศษมาก เช่นเดียวกับเด็กที่ได้รับการปกป้องมากเกินไป หรือได้รับความรักแบบมีเงื่อนไข มักจะเติบโตขึ้นมาโดยมีความรู้สึกชอบเอาใจผู้อื่นมาก ต้องการจะให้ได้รับการยอมรับหรือหลีกเลี่ยงการไม่ยอมรับจากคนอื่น ทำให้เป็นคนสนใจทำอะไรเพื่อผลลัพธ์ (outcome-oriented) มากกว่าทำอะไรเพื่อมุ่งแก้ปัญหา (problem-oriented) อย่างที่นักคิดสร้างสรรค์ควรจะเป็น เด็กๆควรจะได้รับการฝึกให้มีทักษะในการตัดสินใจที่เป็นตัวของตัวเอง และเป็นประโยชน์ไม่ใช่เพียงเพื่อให้งานเสร็จตามการบงการของพ่อแม่แต่ไม่ได้ช่วยฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์
6. อย่าสกัดกั้นหรือบิดเบือนการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็ก พ่อแม่บางคนคิดว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ เช่น เวลาเด็กแสดงความกลัว พวกเขาจะสั่งสอนโดยทำให้เด็กอาย ดุว่า หรือลงโทษ เขาไม่เข้าใจว่าความกล้าไม่ได้หมายถึงความไม่กลัว แต่หมายถึงการกระทำอะไรอย่างกล้าหาญแม้ว่าจะกลัวก็ตาม พ่อแม่บางคนคิดว่าอารมณ์เป็นตัวการขัดขวางการใช้เหตุผล จึงพยายามสอนลูกให้สะกดกลั้นการแสดงอารมณ์ พ่อแม่ประเภทนี้ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากเกินไป
การแสดงออกทางอารมณ์ เป็นสิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์ อารมณ์สามารถถูกฝึกทำให้มีวินัย หรือถูกชี้นำไปทางอื่นได้ คนที่ไม่รู้จักอารมณ์ของตนเองยิ่งจะถูกอารมณ์ครอบงำในการตัดสินใจได้มากกว่าที่จะรู้จักควบคุมนำทางอารมณ์ด้วยตนเอง
7. อย่าลงโทษตัวเองที่ไม่สามารถเป็นพ่อแม่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบและเด็กส่วนใหญ่ก็เติบโตได้โดยไม่มีปัญหา ถ้าพ่อแม่มองเห็นตัวเองว่ามีวิธีคิดหรือพฤติกรรมแบบทำลายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็อาจจะพยายามปรับปรุงแก้ไข อดทนและอดกลั้นต่อตัวเองเหมือนกับที่อยากอดทนและอดกลั้นต่อลูก ควรแยกแยะให้ชัดว่าการปฏิบัติต่อลูกอย่างไม่สร้างสรรค์ประเด็นไหนบ้างที่ควรได้รับการแก้ไข หากพ่อแม่ทำเช่นนั้นได้จะสามารถทำลายวัฎจักรของการคิดอย่างทำลายล้างที่ส่งทอดกันมาหลายชั่วอายุคนได้
ความคิดของเด็กเริ่มจากการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่
การแสดงออกทางความคิดของเด็ก
                     

                    บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจ. โรงบ่มความคิดสร้างสรรค์ “สอนเด็กให้สร้างปัญญาด้วยตนเอง” . กรุงเทพฯ (20 ตุลาคม 2542): 3.
ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา. ความคิดสร้างสรรค์ : พรสวรรค์ที่พัฒนาได้.        กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พิธการพิมพ์, 2537.
วิชาการ, กรม. กระทรวงศึกษาธิการ.ความคิดสร้างสรรค์. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ, 2535.
อารี  พันธ์มณี. คิดอย่างสร้างสรรค์. พิมพ์ครั้งที่5.กรุงเทพฯ:  ต้นอ้อแกรมมี่, 2540 ก.
อารี   รังสินันท์. ความคิดสร้างสรรค์.พิมพ์ครั้งที่3 กรุงเทพ: ข้าวฟ่าง, 2532.
อุษณีย์ โพธิสุข และกองบรรณาธิการโครงการพิเศษ. สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ.กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ. (1954), 2537.
ออลสัน, โรเบิร์ท. ศิลปะการเสริมสร้างพลัง “ความคิดสร้างสรรค์” พิมพ์ครั้งที่2. แปลจาก The Art of Creative Thinking โดย มนูญ ตนะวัฒนา. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2537.
เอมสตีน, เซย์มัวร์ และบรอดสกี้, อาร์ซี่. คุณฉลาดมากกว่าที่คุณคิดไว้: การพัฒนาการคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อความสำเร็จในชีวิต. แปลจาก You’re Smarter Than You Think: How to Develop You Practical Intelligence For Success in Living โดย วิทยากร เชียงกูล. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2540.
 Rogers’ C.R. Toward a Theory of Creativity. In P.E. Vernon (ed.), Creativity.
Hasmonds Worth: Penguin Book, 1970.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น